การแพร่แบบธรรมดา
การแพร่ (diffusion) เป็นการเคลื่อนที่ของโมเลกุลจากจุดที่มีความเข้มข้นสูงกว่า ไปยังจุดที่มีความเข้มข้นต่ำกว่า
• ปัจจัยที่มีผลต่อการแพร่
1. อุณหภูมิ เมื่ออุณหภูมิสูงจะทำให้โมเลกุลเคลื่อนที่ได้เร็วกว่าอุณหภูมิต่ำ
2. ความแตกต่างของความเข้มข้น ถ้ามีความเข้มข้นของสาร 2 บริเวณ แตกต่างกันมากจะทำให้การแพร่เกิดขึ้นได้เร็วขึ้นด้วย เพราะบริเวณที่มีความเข้มข้นมากโมเลกุลมีโอกาสชนและกระแทกกันมาก ทำให้โมเลกุลกระจายออกไปยังบริเวณที่เข้มข้นน้อยกว่าได้เร็วกว่า
3. ขนาดของโมเลกุลสาร สารที่มีขนาดโมเลกุลเล็กจะเกิดการแพร่ได้เร็วกว่าสารที่มีโมเลกุลใหญ่ เพราะสารโมเลกุลเล็กสามารถแทรกไประหว่างโมเลกุลของสารตัวกลางได้ดีกว่าสารโมเลกุลใหญ่
4. ความเข้มข้นและชนิดของสารตัวกลาง สารตัวกลางที่มีความเข้มข้นมากจะมีแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลของตัวกลางมาก ทำให้โมเลกุลของสารเคลื่อนที่ไปได้ยาก
การออสโมซิส (Osmosis)
การออสโมซิสเป็นการแพร่ของของเหลวผ่านเยื่อบางๆ หมายถึงการแพร่ของน้ำผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ (cell membrane) เนื่องจากเยื่อหุ้มเซลล์มีคุณสมบัติในการยอมให้สารบางชนิดเท่านั้นผ่านได้ การแพร่ของน้ำจะแพร่จากบริเวณที่เจือจางกว่า (มีน้ำมาก) ผ่านเยื่อหุ้มเซลล์เข้าสู่บริเวณที่มีความเข้มข้นกว่า (มีน้ำน้อย) หรือ ออสโมซิสเป็นการแพร่ของน้ำจากบริเวณที่มีน้ำมากเข้าไปสู่ในบริเวณที่มีน้ำน้อยกว่าโดยผ่านเยื่อหุ่มเซลล์